ปรัชญา
“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” กับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไทย
แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทาน “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มานานกว่า 35 ปีแล้ว แต่หลังจากที่พระองค์ได้ตรัสอีกสองครั้งในวันที่ 4 ธันวาคม 2540 และ 2541 แล้ว ปรากฏว่าความเข้าใจของชาวไทยก็ยังมีไม่มากนักและตีความแตกต่างกันไป รัฐบาลหลังจากนั้นก็ได้บรรจุคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ไว้ในนโยบายทุกครั้ง แต่ในความเป็นจริงการกระทำของรัฐบาลจะเป็นเช่นไรนั้นสามารถตรวจสอบได้จากตัวเลขบางตัว ถ้าเราเข้าใจสองสิ่งต่อไปนี้คือ (1) หลักการสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ (2) สัดส่วนของมูลค่าสินค้าส่งออกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี เราจะพบว่าประเทศเรากำลังเดินห่างออกจากแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาก ในปี 2529 ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของรัฐบาลที่ใช้คำขวัญว่า “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ประเทศไทยส่งสินค้าออกคิดเป็นมูลค่าประมาณ 20% ของจีดีพี นั่นหมายความว่ามูลค่าสินค้าส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80) ที่เราผลิตได้ภายในประเทศ เราใช้สำหรับการบริโภคภายในประเทศของเราเอง ที่เหลืออีกส่วนน้อยคือร้อยละ 20 เราส่งออกไปขายต่างประเทศ ถ้าประเทศผู้ซื้อประสบกับปัญหาใดๆ ไม่ว่าจะจากภัยเศรษฐกิจหรือภัยธรรมชาติจนต้องลดการบริโภคลง เราในฐานะผู้ผลิตก็จะไม่เดือดร้อนมากนัก พอจะขยับขยายยักย้ายถ่ายเทสินค้าไปที่อื่นหรือกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศก็ยังพอได้ แต่เมื่อผ่านไป 25 ปี สัดส่วนมูลค่าสินค้าส่งออกได้เพิ่มขึ้นทุกปี บางปีถึง 64% (ปี 2551 ดูกราฟประกอบ ที่มาจากข้อมูลดิบจากกระทรวงพลังงาน) นั่นหมายความว่า สองในสามส่วนของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศนั้นเราผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของชาวต่างประเทศ โปรดสังเกตว่าในปี 2552 ซึ่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา มูลค่าการส่งออกของเราลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 57 ซึ่งเป็นการลดที่ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับปี 2540 ที่เราเกิดวิกฤตภายในประเทศของเราเอง (วิกฤตต้มยำกุ้ง)
วิสัยทัศน์
วิสัยทัศน์ประเทศไทย
คนไทยภาคภูมิใจในความเป็นไทยมีมิตรไมตรีบนวิถีชีวิตแห่งความพอเพียง ยึดมั่นในวัฒนธรรมประชิปไตยและหลักธรรมาภิบาลการบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่ทั่วถึง มีคุณภาพสังคมมีความปลอดภัยและมั่นคง อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี เกื้อกลูและเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ระบบการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน อยู่บนฐานทางเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองและแข่งขันได้ในเวทีโลก สามารถอยู่ในประชาคมภูมิภาคและโลกได้อย่างศักดิ์ศรี